อาหารประจำถิ่น

อาหารประจำถิ่น



หลามบอน
หลามบอนเป็นอาหารพื้นบ้านของทางภาคเหนือ  ซึ่งจะหากินได้ง่าย ๆ ตามวิถีชนบททั่วไปเพราะบอนสามารถเก็บมาจากท้องร่อง ขอบบ่อ ขอบหนอง แทบไม่ต้องซื้อ เป็นอาหารที่ปลอดสารพิษเพราะวัสดุที่นำมาปรุงเป็นวัสดุธรรมชาติ  ในท้องถิ่น  ซึ่งเป็นสมุนไพร  มีคุณค่าทางอาหารสูง  บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต แข็งแรง เป็นอาหารที่ย่อยง่าย วิธีการทำหลามบอนต้องเอาบอนพร้อมเครื่องปรุงต่าง ๆ ใส่รวมกันในกระบอกไม้ไผ่ดิบกระบอกโตแล้วเอาไปเผาให้สุกเหมือนเผาข้าวหลาม



ต๋ำเตา
เตา เป็นคำเรียกภาษาพื้นเมืองของสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่ชอบขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติตามหนองในลำห้วย มีลักษณะเป็นเส้นใยอ่อนนุ่มสีเขียวไม่มีใบ ไม่มีดอก เกิดในน้ำนิ่งและน้ำไหลเพียงเล็กน้อย  นิยมเอาเตาอ่อน ๆ ที่ช้อนขึ้นมาได้นำไปปรุงเป็นอาหาร  ที่นิยมทำกันมากที่สุดคือ ต๋ำเตา คนทางเหนือเชื่อว่าการรับประทานเตาจะทำให้ผมดกดำไม่หงอกง่าย ชะลอความแก่ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยส่งเสริมความจำ ป้องกันโรคโรหิตจาง บำรุงสมอง กระดูก และฟันให้แข็งแรง เส้นใยอาหารช่วยป้องกันโรคท้องผูก



แอ๊บปลาก๋ม
แอ๊บปลา ถือเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวล้านนาที่นิยมทานกันมาก หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าแอ็บปลาเป็นอาหารประเภทไหน แอ็บปลาเป็นอาหารที่ห่อด้วยใบตองคล้ายๆ ห่อหมก วิธีการคือนำปลาสดมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง เช่นเดียวกับแอ็บอ่องออ แอ็บกุ้ง แล้วห่อด้วยใบตองนำไปปิ้งหรือย่างด้วยไฟอ่อน ๆ แทนการนึ่ง กลิ่นจะหอมแถมอร่อยท้าให้ลอง ถ้าห่อด้วยใบขมิ้นอ่อน ๆ ที่ชั้นในสุด จะทำให้เนื้อปลาหอม น่ารับประทานยิ่งขึ้น และสามารถรับประทานใบขมิ้นนั้นได้ด้วย



ส้ามะเขือแจ้
ส้ามะเขือแจ้  เป็นชื่อทางภาษาเหนือ เป็นการนำมะเขือแจ้มาซอยบางๆ เพราะถ้าซอยไม่บางเวลาเคี้ยวจะเหนียวมากๆ ยิ่งบางยิ่งดีเพราะว่าจะได้เคี้ยวง่ายๆ ส้ามะเขือแจ้ ทำได้โดยการซอยหรือหั่นมะเขือแจ้ให้บางๆ จากนั้น ตำน้ำพริกเพื่อเอามายำ  ใส่พริกแห้ง หอมแดง ตระไคร้ซอย บางทีก็ใส่แคบหมูตำลงไป  บางที่ก็ใส่จิ้นแห้ง ผักชีฝรั่ง  ใบหอมป้อม ปรุงรสให้เข้ากัน คลุกเคล้าจนได้ที่ ก็จะได้ ส้ามะเขือแจ้ บางครั้งก็ใส่น้ำปู๋ด้วยจะได้รสชาติที่อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง



น้ำพริกมะแข่น
น้ำพริกมะแข่น เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวตำบลเมืองลี ที่รู้จักกันทั่วไป ทำจากมะแข่นดิบ โดยใช้พริกหนุ่ม และกระเทียม นำมาย่างแล้วโขลกส่วนผสมและเกลือ รับประทานคู่กับผักจิ้ม ผลมะแข่นจะคล้ายกับผลมะขว่าง แต่มะแข่นจะมีกลิ่นหอมกว่ามะขว่าง มีสรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน



ยำหญ้าหมาน้อย
หมาน้อย ที่มีขาเป็นเครือพันกับเสาหลัก พืชที่สามารถผลิตวุ้นธรรมชาติ เป็นยาเย็น อาหารเพื่อสุขภาพของพี่น้องชาวตำบลเมืองลี หญ้าหมาน้อยเป็นไม้เถาเลื้อยเป็นเครือพันกับหลักหรือพันกับต้นไม้ ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบเป็นแบบก้นปิด หน้าใบและหลังใบมีขนปกคลุมหนา เวลาเอามือลูบที่ใบจะเป็นขนมันนุ่ม ๆ เหมือนขนหมาน้อย ชาวบ้านจะเรียกว่า ต้นเครือหมาน้อย ใช้ปรุงผสมกับน้ำใบย่านาง ซึ่งพืชทั้งสองชนิด เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาปรุงรสกับปลาป่น น้ำที่ปรุงจะข้นจนเกิดเป็นวุ้น มีประโยชน์ทางยาหลายประการคือ เป็นยาเย็น ช่วยย่อย แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้เจ็บคอ



ขนมปาด
ขนมปาด หรือ เข้าหนมปาด เป็นขนมพื้นบ้านของ ชาวล้านนา นิยมทำในประเพณีงานบวช งานบุญ ซึ่งเป็นขนมลักษณะคล้ายกับขนมชั้น แต่จะนิ่มกว่า ขนมปาดเก็บรักษาได้ไม่นาน แค่ 2 วัน ก็เน่าเสีย  สำหรับวิธีการทำขนมปาดของชาวตำบลเมืองลีนั้น ยังอนุรักษ์วิธีทำแบบเดิม คือ ใช้เตาฮาง (เตาแบบขุดดินเผา)  เครื่องปรุงหรือส่วนผสมของ ขนมปาดนั้น ประกอบด้วยข้าวเจ้า น้ำอ้อย มะพร้าวทึนทึก ส่วนวิธีทำนั้นมีขั้นตอนไม่มากนัก แต่ต้องอาศัยเวลาในการทำเป็นอย่างมาก เริ่มจากนำข้าวสารมาเคี่ยวกับน้ำอ้อย ในกระทะใบบัว(ใหญ่) ให้ผู้ชาย ๒ คน ใช้พายคนกัน ทิ้งไว้เย็นแล้วตัดเป็นคำ ๆ ใส่กระทงใบตองโรยด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดหยาบ ๆ ลักษณะของขนมปาดนั้น จะคล้ายขนมศิลาอ่อน จะมีสีออกจะน้ำตาลเข้ม มีรสชาติหวานมัน เวลาเคี้ยวจะกรุบกรอบในปากเล็กน้อยจากมะพร้าวเเละงาที่ใช้ในการทำขนมในวันงานบวช เจ้าภาพจะห่อขนมปาดแจกแขกถือติดมือไปฝากที่บ้านทุกคน